นักวิจัย มมส ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงไข่ผำแก่กลุ่มเกษตรกร ยกระดับอาหารปลอดภัย เพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์
นักวิจัยภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยี และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงพื้นที่โครงการบริการวิชาการเพื่อสร้างนวัตกรรมและชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จัดอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี “การเพาะเลี้ยงและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไข่ผำเชิงพาณิชย์ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” แก่กลุ่มเกษตรกรต้นแบบเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน ตำบลกุดรัง อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม เสริมสร้างศักยภาพกลุ่มเกษตรกร ให้สามารถใช้ประโยชน์จากไข่ผำและต่อยอดเชิงพาณิชย์ เตรียมพร้อมยื่นขอรับรองตามมาตรฐาน GAP
อาจารย์ ดร.ศุภชัย สุทธิเจริญ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยี หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่บริการวิชาการจัดอบรม “การเพาะเลี้ยงและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไข่ผำเชิงพาณิชย์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” แก่กลุ่มเกษตรกรต้นแบบ อำเภอกุดรัง ในวันนี้ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ และความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดมหาสารคาม
“ไข่ผำ” เป็นพืชท้องถิ่นที่มีประโยชน์ มีสรรพคุณทางยา ผู้บริโภคนิยมนำไข่ผำมาประกอบอาหารด้วยการปรุงสุก ทำเมนูอาหารได้หลากหลาย เช่น แกงคั่ว แกงอ่อม ไข่เจียว สปาเก็ตตี้ และล่าสุดมีการแปรรูปเป็นไอศกรีมไข่ผำด้วย แต่มีสิ่งที่ควรระวังคือ เรื่องการปนเปื้อนของตัวอ่อนพยาธิ หรือยาฆ่าแมลงจากแหล่งน้ำ โดยเฉพาะการเก็บจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องแหล่งที่มา และเป็นที่มาของการถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ อีกทั้งพบปัญหาและความต้องการของเกษตรกรที่ขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาช่วยการผลิต ซึ่งปัจจัยการผลิตมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปสินค้า ให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคเพิ่มมูลค่าทางตลาด
โดยได้แนะนำเกษตรกร เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงไข่ผำที่มีความปลอดภัย เลี้ยงในกระชัง ใช้น้ำสะอาดจากแหล่งธรรมชาติ เป็นบาดาล หรือประปา พร้อมสาธิตวิธีการเลี้ยงไข่ผำในบ่อพลาสติกแบบง่ายเชิงพานิชย์ อธิบายขั้นตอนที่ง่ายต่อการเลี้ยงของชาวบ้าน ซึ่งสายพันธุ์ของ "ไข่ผำ" ที่ใช้สาธิตการเพาะเลี้ยง คือ wolffia globosa ซึ่งทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี สำหรับ "ไข่ผำ"ที่นำมาเพาะเลี้ยงจะมีโปรตีนที่สูงกว่าถั่วเหลือง มีวิตามินซีสูง มีไฟเบอร์สูง มีกรดอะมิโนจำเป็น มีแป้ง น้ำตาล ไขมัน และแคลอรี่ต่ำ เป็นพืชน้ำ ที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารให้ความสนใจและเป็นนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต Future Food ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ สามารถนำไปต่อยอดการเลี้ยงไข่ผำเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมได้และที่สำคัญคือเกิดกระบวนการที่มีมาตรฐานการผลิต ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ทีมวิจัยร่วมจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.จินดาวัลย์ วิบูลย์อุทัย ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่อง “การตรวจประเมินเบื้องต้นการปนเปื้อนจากการผลิตการเพาะเลี้ยงไข่ผำตลอดห่วงโซ่อาหาร” และ อาจารย์ ดร.เสาวลักษณ์ สุทธิเจริญ ถ่ายทอดเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและการแปรรูปไข่ผำเพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงการค้า” โดยนำไข่ผำมาผลิตไอศกรีมแบบโฮมเมด ด้วยวิธีการผสมไข่ผำที่ผ่านการคั่วแห้งลงในไอศกรีมชาเขียว ซึ่งมีส่วนผสมหลักจากธรรมชาติ เช่น นมข้นหวาน นมสดพาสเจอร์ไรส์ และวิปปิ้งครีม การเติมไข่ผำช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เช่น โปรตีนและสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ใส่ใจสุขภาพ และได้รสชาติความแปลกใหม่
ทั้งนี้ผลลัพธ์ที่ได้ นอกจากจะช่วยยกระดับวิธีการเพาะเลี้ยงไข่ผำตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) ของเกษตรกรแล้ว ยังสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไข่ผำให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบที่ปลอดภัยมีคุณภาพ สามารถขยายสู่เชิงพาณิชย์โดยผลิตเป็นอาหารเสริมสุขภาพต่อไปในอนาคต
ภาพ/ข่าว : บุณฑริกา ภูผาหลวง
ที่มา : คณะเทคโนโลยี
# ด้านการวิจัย (Research) # ด้านบริการวิชาการ (Academic Service)
SDGs: 1 GOAL1-ขจัดความยากจน (No Poverty) 4 GOAL4-การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality education)