การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) คือ แนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง (Brundtland Report, 1987)
ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ประเทศไทยและประเทศสมาชิกสหประชาชาติรวม 193 ประเทศ ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกัน
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 เป้าหมาย ประกอบไปด้วย 169 เป้าหมายย่อย (SDG Targets) ที่มีความเป็นสากล เชื่อมโยงและเกื้อหนุนกัน และกำหนดให้มี 247 ตัวชี้วัด เพื่อใช้ติดตามและประเมินความก้าวหน้าของการพัฒนา โดยสามารถจัดกลุ่ม SDGs ตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 5 มิติ (5P) ได้แก่
1. การพัฒนาคน (People) ให้ความสำคัญกับการขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย และลดความเหลื่อมล้ำ ในสังคม
2. สิ่งแวดล้อม (Planet) ให้ความสำคัญกับการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศเพื่อพลเมืองโลกรุ่นต่อไป
3. เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและสอดคล้องกับธรรมชาติ
4. สันติภาพและความยุติธรรม (Peace) ยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคมที่สงบสุข และไม่แบ่งแยก
5. ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน
การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญต่ออนาคตของโลกและมนุษยชาติ โลกของเรากำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายมากมาย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ การขาดแคลนทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้และสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับคนรุ่นต่อไป
กล่าวคือ เป็นการพัฒนาที่คำนึงถึง 3 มิติหลัก ดังนี้
1. เศรษฐกิจ (economic growth): การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน หมายถึง การพัฒนาที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยไม่สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม
2. สังคม (social inclusion): การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน หมายถึง การพัฒนาที่มุ่งสร้างสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม และเท่าเทียม โดยทุกคนมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและบริการทางสังคมอย่างทั่วถึง
3. สิ่งแวดล้อม environmental protection): การพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน หมายถึง การพัฒนาที่รักษาสมดุลของระบบนิเวศ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ:
การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป ต่างมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งข้อมูล:
https://thailand.un.org/th/sdgs
http://www.asia.tu.ac.th/ieas/ieas_buiding.htm
https://www.nesdc.go.th/
https://sdgs.nesdc.go.th/