MSU Sustainability Development Goals (SDGs)

มมส คืนข้อมูลวิจัย “ดิน” และ “น้ำ” อ่างเก็บน้ำห้วยค้อสู่ชุมชน ร่วมพัฒนาพื้นที่ใช้ประโยชน์เพื่อความยั่งยืน

คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดกิจกรรมโครงการบริการวิชาการเพื่อสร้างนวัตกรรมและชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ภายใต้ชื่อโครงการ การบูรณาการพัฒนาชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน : ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ   ณ อ่างเก็บนํ้าห้วยค้อ อําเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม

โดยในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยภัทร บุษบาบดินทร์ หัวหน้าโครงการฯ ได้นำคณะวิจัย  ลงพื้นที่จัดกิจกรรมต่อยอดในพื้นที่ประเด็น “ชีวิตใหม่ไร้สารพิษ : การจัดการและป้องกันการปนเปื้อนโลหะและสารเคมีในดินและน้ำ เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค” คืนข้อมูลวิจัย “ดิน และ น้ำ” อ่างเก็บน้ำห้วยค้อ สู่ชุมชนและภาคีเครือข่าย พร้อมสรุปข้อมูลพื้นที่จาก Module 1 – 4  ร่วมในกิจกรรมแลกเปลี่ยนความต้องการจากชุมชน และมอบเกียรติบัตรจาก MCR2030 (UNDRR) ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม ก่อนจะมอบแผนที่ภูมิประเทศ ให้แก่ภาคีเครือข่ายทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลนาเชือก ,องค์การบริหารส่วนตำบลนาเชือก ,องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรง ,องค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ ,องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเม็ก และอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ สำนักงานชลประทานที่ 6 โดยมี อาจารย์ ดร.ฤทธิไกร  ไชยงาม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้าร่วมโครงการ พร้อมด้วยตัวแทนจากภาคีเครือข่าย ทั้ง 6 แห่ง เข้าร่วมอบรมเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ต่อชุมชน

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยภัทร บุษบาบดินทร์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นตัวแทนกลุ่มนักวิจัย ลงมาให้บริการวิชาการที่อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม มุ่งเน้นด้านการศึกษาทรัพยากรธรรมชาติ ดินและน้ำ ในอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ประโยชน์จากน้ำและดินจากอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ เพื่อการปลูกพืชและทำการเกษตร จัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำห้วยค้อเพื่อความยั่งยืน พัฒนาหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำชุมชน ตลอดจนพัฒนาปรับปรุงแผนงานและกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างความคงทนของชุมชนต่อภัยพิบัติโดยมี 3 โครงการย่อย  ได้แก่
1. "โครงการพัฒนาและปรับปรุงแผนงานและกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างความคงทนของชุมชนต่อภัยพิบัติ"
2. "โครงการการจัดการคุณภาพและการใช้ประโยชน์จากน้ำและดิน จากอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคามเพื่อทำการปลูกพืชและการทำการเกษตร"
3. "โครงการพัฒนาหลักสูตรการบริหารจัดการนํ้าด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"

สำหรับการคืนข้อมูลวิจัย “ดิน”และ“น้ำ”อ่างเก็บน้ำห้วยค้อสู่ชุมชนในวันนี้ สิ่งที่เกษตรกรจะได้รับประโยชน์และนำไปปฏิบัติได้จริงคือ ตระหนักเรื่องการไม่ใช้ปุ๋ยที่เป็นสารเคมีในการทำเกษตร เพราะจะส่งผลให้ดินเกิดความเสื่อมโทรม มีปัญหาต่อการใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในระยะยาว เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ พืชและสัตว์ อีกทั้งป้องกันไม่ให้ดินปนเปื้อนที่จะกระทบไปสู่แหล่งน้ำ โดยคณะวิจัยได้แนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยชีวภาพมาใช้ทำการเกษตรแทนเพื่อความปลอดภัย พร้อมเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรการบริหารจัดการน้ำช่วยการมีส่วนร่วมของชุมชน  นำมาถ่ายทอดให้เกษตรกรและชุมชนได้เรียนรู้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน

ภาพ/ข่าว : บุณฑริกา ภูผาหลวง
ที่มา : คณะวิทยาศาสตร์

# ด้านการวิจัย (Research) # ด้านบริการวิชาการ (Academic Service)

SDGs: 14 GOAL14-นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร (Life below water) 15 GOAL15-ระบบนิเวศบนบก (Life on land)