MSU Sustainability Development Goals (SDGs)

มมส คว้าถ้วยรางวัล Platinum Award สุดยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมโดดเด่น ในงาน Thailand Research Expo 2024

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดพิธีมอบรางวัล Thailand Research Expo 2024 Award และมอบโล่แสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานที่นำผลงานร่วมนำเสนอในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล Platinum Award จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล และเกียรติบัตร โดยได้รับเกียรติจาก นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปิดงานและเป็นผู้มอบถ้วยรางวัลประเภท Platinum Award, Gold Award, Silver Award, Bronze Award และรางวัลชมเชย พร้อมเกียรติบัตรแก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัล โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เป็นผู้มอบโล่แสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานที่นำผลงานร่วมนำเสนอในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)” ณ เวที Highlight Stage ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

ในการนี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคามสามารถคว้ารางวัล Platinum Award ถ้วยรางวัลพระราชทานจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 150,000 บาท และเกียรติบัตร โดย ศาสตราจารย์ ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัย และนวัตกรรม เข้ารับโล่แสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานในการเข้าร่วมจัดแสดงผลงานและนำเสนอผลงาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ยั่งยืน สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้ารับรางวัลถ้วยรางวัลพระราชทานจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 150,000 บาท และเกียรติบัตร จากผลงาน “จักรวาลข้าวไทย เพื่อเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทาง BCG” โดยมี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้มอบถ้วยรางวัล

รองศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ยั่งยืน สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าโครงการ เจ้าของผลงาน “จักรวาลข้าวไทย เพื่อเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทาง BCG” กล่าวว่า งานวิจัยนี้เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานแก่ วช. ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้นำมาวิจัยและพัฒนากระบวนการแปรรูปข้าวด้วยเครื่องจักรและนวัตกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาทิ พัฒนาเมล็ดพันธุ์เข้มแข็ง ข้าวเปลือกปลอดมอด ข้าวฮางพรีเมียม ข้าวกาบาอาร์เอส แป้งข้าวทนย่อย ข้าวไก่ชน รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ซึ่งวันนี้ได้มีโอกาสกราบบังคมทูลถวายรายงานต่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 พระองค์ท่านมีรับสั่งชื่นชม และรับสั่งว่า ‘อยากทำปริญญาเรื่องข้าว แต่ตอนนี้ยังเรียนไม่ได้ ถ้ามีโอกาสก็จะศึกษาเรื่องข้าวให้ลึกซึ้งมากกว่านี้’ ในฐานะนักวิจัยเรื่องข้าวรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นกำลังใจให้เราที่จะทำงานนี้ต่ออย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเห็นคุณค่าและความสำคัญของข้าวและงานวิจัย”

ผลงาน “จักรวาลข้าวไทย เพื่อเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทาง BCG”นวัตกรรมในโครงการพัฒนากระบวนการผลิตข้าวฮางงอกด้วยวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน จากทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ยั่งยืน หัวหน้าโครงการ มีนักวิจัยร่วม รองศาสตราจารย์ ดร.จักรมาส เลาหวณิช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เชิดพงษ์ เชี่ยวชาญวัฒนา อาจารย์ดร.ชณัฐ วิพัทนะพร อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระยศ แข็งขัน อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยี และรองศาสตราจารย์ ดร.วรพล เองวาณิช อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ นอกจากนี้ได้รับความร่วมมือจาก อาจารย์ ดร.สันติ สิงห์สุ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ นายสมนึก พันเสนา นายปริวัตร เวฬุวนารักษ์ นาธีระเดช ทรงอาจ นายสุรเชษฐ์ สวนจันทร์ และนายทิวานัถ แก้วสอนดี นิสิตปริญญาเอก ผู้ออกแบบบูชนิทรรศการ ท้ายสุดกราบขอบพระคุณวัดเศวตวันวนาราม ตำบลเหนือ อำเภอเมืองจังหวัดกาฬสินธ์ ที่อนุเคราะห์ปราสาทรวงข้าวที่ใช้ในการจัดงานในครั้งนี้

การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)” เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม โดยกำหนดจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2549 ด้วยความร่วมมืออันดีระหว่างหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยในปี 2567 จัดขึ้นเป็นปีที่ 19

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

# ด้านการวิจัย (Research)

SDGs: