มหาไหมเมืองคาม วิจิตราอาภรณ์ของแผ่นดิน ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล ครั้งที่ 4
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับจังหวัดมหาสารคาม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคประชาชน จัดงาน“มหาไหมเมืองคาม วิจิตราอาภรณ์ของแผ่นดิน ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล” ครั้งที่ 4 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2567 ณ พิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
โดยมี นายนพสิทธิ์ อุดมสุวรรณกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีเปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพ และกล่าวราชสดุดีถวายพระพรชัยมงคลเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เข้าร่วมกิจกรรม
“มหาไหมเมืองคาม วิจิตราอาภรณ์ของแผ่นดิน ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล” ครั้งที่ 4 เป็นการนำเรื่องราวผ้าของจังหวัดมหาสารคาม มาจัดแสดงเป็นการสืบสาน ส่งเสริม และสร้างสรรค์มรดกภูมิปัญญาด้านผ้าทอให้เกิดประโยชน์ต่อชาวมหาสารคาม ทั้งด้านคุณค่าทางวัฒนธรรม และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เกิด การสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างแรงบันดาลใจแก่ลูกหลานชาวมหาสารคาม ในการสืบสานและต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคต ผลักดัน “Soft Power” เพื่อส่งเสริมความเป็นไทย และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการในรูปแบบของผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ที่มีศักยภาพ 5 F อันได้แก่ อาหารไทย , แฟชั่น , มวยไทย , ภาพยนตร์ และประเพณีท้องถิ่นสู่สากลทางวัฒนธรรม ได้มีโอกาสถ่ายทอดการแสดงศิลปวัฒนธรรม และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่า และภาคภูมิใจในความเป็นไทย
ภายในงานมีการประกวดออกแบบผลงานสร้างสรรค์แฟชั่นเครื่องแต่งกายด้วยลายผ้าทอจังหวัดมหาสารคาม ในหัวข้อ “ผ้าไทย สไตล์ NEW GEN” ชิงเงินรางวัลพร้อมโล่เกียรติยศ มูลค่ารวมกว่า 50,000 บาท ชมการเดินแบบแฟชั่น “ผ้าไทย สไตล์ NEW GEN” แฟชั่นกิตติมศักดิ์ และแฟชั่นประจำอำเภอ นอกจากนี้ยังมีการเดินชมตลาดศิลปวัฒนธรรม จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับการยกระดับจากการวิจัยและบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสินค้าศิลปะและวัฒนธรรม อีกทั้งชมนิทรรศการทอลายผ้ามหาสารคาม โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมไหม, ผลงานนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์, ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม “ทุนทางวัฒนธรรมสู่ Soft Power” โดยสำนักศึกษาทั่วไป, เส้นทางปลาแดกมหาสารคาม โดยเชฟคำ นาง และบริษัท เซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟู้ดส์ , “คักแท้แกดำและกันทรวิชัยรุ่งเรือง” โดย บพท. การจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่น
ภาพ/ข่าว : อภิราม ทามแก้ว
ที่มา : สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
# ด้านศิลปวัฒนธรรม (Art and Culture)
SDGs: