MSU Sustainability Development Goals (SDGs)

นักวิจัยสาขาประมง มมส สร้างชุมชนต้นแบบ “เลี้ยงปลานิลในระบบไบโอฟลอคเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

นักวิจัยสาขาวิชาประมง คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงพื้นที่โครงการบริการวิชาการเพื่อสร้างนวัตกรรมและชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน “โครงการเลี้ยงปลานิลในระบบไบโอฟลอคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล พร้อมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หวังให้เป็นต้นแบบการเรียนรู้ของชุมชน ให้เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค สร้างอาชีพ มีรายได้ ก่อให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภาวี ไทเมืองพล สาขาวิชาประมง คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ มาจากการต่อยอดงานวิจัย ของสาขาวิชาประมง คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่องการเลี้ยงปลานิลด้วยจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ที่มีขายในท้องตลาด เทียบกับการใช้จุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นเองในระบบไบโอฟลอค ซึ่งผลการวิจัยพบว่า การเลี้ยงปลานิลระบบไบโอฟลอค ทำให้ปลามีอัตราการรอด 100% และมีภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าการเลี้ยงด้วยจุลินทรีย์ชนิดอื่น เป็นกระบวนการที่ไม่ยุ่งยาก เหมาะสมที่จะมาถ่ายทอดให้กับชุมชน

สำหรับการเลือกหมู่บ้านนี้ เนื่องจากมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงดำรงพัฒนาอยู่แล้ว เป็นพื้นที่มีโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำของกรมประมง เกษตรกรสามารถเพาะพันธุ์ลูกปลาได้เอง แม้ว่าจะเพาะพันธุ์ปลาได้จำนวนมาก แต่ต้องปล่อยในหนองธรรมชาติ ซึ่งเป็นบ่อรวมของหมู่บ้าน เพราะบ่อที่เกษตรกรมีตามทุ่งนาจะไม่มีน้ำในฤดูแล้ง จากนั้นจะใช้เวลา 2 ปี ถึงจะทำการเก็บปลาขึ้นมาขายเป็นกองกลาง และเกษตรกรมองว่ามีปลาที่เหลือจากการเพาะ น่าจะเอามาลงบ่อแล้วเลี้ยงได้ ติดปัญหาที่ไม่มีน้ำในบ่อในฤดูแล้ง จึงเป็นที่มาของการเลือกพื้นที่ต้นแบบและเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกร

โดยสาขาวิชาประมง ร่วมกับ คณะบัญชีและการจัดการ  ได้รับทุนสนับสนุนจากกองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคามปี 2567 ร่วมกันจัดโครงการบริการวิชาการ เพื่อสร้างนวัตกรรมและชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ภายใต้ชื่อโครงการ “โครงการเลี้ยงปลานิลในระบบไบโอฟลอคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ลงพื้นที่หมู่บ้านสันติสุขและบ้านดำรงพัฒนา ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม

สิ่งที่มาถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่วันนี้คือ อบรมถ่ายทอดความรู้เรื่อง ความสำคัญของการเตรียมจุลินทรีย์สำหรับการเลี้ยงปลานิลในระบบไบโอฟลอค พร้อมนำฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการตรวจวัดการเจริญเติบโตของปลานิล และการวัดคุณภาพน้ำในระหว่างการเลี้ยง

ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล จะได้รู้จักกับวิธีเลี้ยงปลาในระบบไบโอฟลอค ซึ่งเป็นระบบที่ใช้จุลินทรีย์พื้นถิ่นมาช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับปลา เป็นงานวิจัยของทีมอาจารย์สาขาประมง ในปีแรกของการเริ่มต้นโครงการนี้ มีเกษตรกรที่เป็นต้นแบบการเลี้ยงปลานิลในระบบไบโอฟลอคอยู่จำนวน 6 ราย และสร้างต้นแบบการเลี้ยงปลานิลในระบบไบโอฟลอคภายในพื้นที่แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน (เขตพื้นที่ขามเรียง) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อีก 1 แห่ง รวมเป็น 7 แห่ง

ทีมวิจัยคาดหวังว่าในปีแรกนี้ จะฝึกให้เกษตรกรต้นแบบทั้ง 6 ราย เข้าใจการเลี้ยงปลานิลในระบบไบโอฟลอค และชุมชนสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากโครงการฯ ไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล และเป็นฐานการเรียนรู้ของชุมชน ก่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล ให้เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค มีอาชีพและมีรายได้เพิ่มในครัวเรือนด้วย

ภาพ/ข่าว : บุณฑริกา  ภูผาหลวง
ที่มา : คณะเทคโนโลยี

# ด้านการวิจัย (Research)

SDGs: 1 GOAL1-ขจัดความยากจน (No Poverty) 2 GOAL2-ขจัดความหิวโหย (Zero hunger)