MSU Sustainability Development Goals (SDGs)

นักวิจัย มมส พัฒนาอาชีพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สู่การผลิตเส้นไหมคุณภาพ

อาจารย์นักวิจัยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เดินหน้าโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้และพัฒนาอาชีพการผลิตเส้นไหมคุณภาพ แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหมอนเลี้ยงไหม อำเภอกุดรัง และอำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม พัฒนาอาชีพการผลิตเส้นไหม พัฒนาศูนย์เรียนรู้การปลูกหม่อน และถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม สู่การเกิดห่วงโซ่คุณค่าของเศรษฐกิจของจังหวัดมหาสารคาม

รองศาสตราจารย์ ดร.ฉลอง พันธ์จันทร์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2564 ที่เกิดโครงการ U2T ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 เป็นโครงการบริการวิชาการมาหนุนเสริม ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหมอนเลี้ยงไหม บ้านบัวแก้ว ตำบลเลิงแฝก อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันขึ้นเพื่อปลูกหมอนเลี้ยงไหมภายในชุมชน หลังจากการสำรวจและเก็บข้อมูลพบว่า กลุ่มนี้ผลิตเส้นไหมและขายเฉพาะไหมดิบและขายกิโลละ 1,500 และได้หาโจทย์ช่วยชาวบ้านเพิ่มมูลค่า จึงได้ร่วมกับคณะการบัญชีและการจัดการ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ และคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อการเพิ่มศักยภาพในการผลิตเส้นไหมดิบขาย พร้อมได้จัดกิจกรรมภายใต้โครงการบริการวิชาการฯ โดยนำวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ให้ความรู้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน

เริ่มตั้งแต่ให้ความรู้ในเรื่อง การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การออกแบบลายผ้าไหม การย้อมสีธรรมชาติ การทอผ้า-มัดย้อม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนี้ ผลิตและขายเส้นไหมดิบได้เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 1,850 บาท และเส้นไหมฟอกและตีเกลียว กิโลกรัมละ 2,800 - 3,000 บาท รวมทั้งการออกแบบและแปรรูปผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก เช่น กระเป๋าเป้ ผ้าซิ่น ผ้าคลุมไหล่ประจำวันเกิด เป็นต้น เพื่อจำหน่าย

และผลลัพธ์ที่ได้นอกจากเพิ่มมูลค่าแล้ว สมาชิกในกลุ่มจำนวน 46 คน มีความเชี่ยวชาญขึ้น ทั้งเก่งสาวไหม เก่งเลี้ยงไหม เก่งย้อมไหม ได้ผ้าไหมที่มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในกลุ่มลูกค้า ส่งผลให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และส่งจำหน่ายเส้นไหมไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคกลาง

สำหรับการพัฒนาต่อยอดจากโครงการนี้ ชุมชน นักวิจัย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ เช่น ศูนย์หม่อนไหมจังหวัดมหาสารคาม พัฒนาชุมชนอำเภอกุดรัง องค์การบริหารส่วนตำบลเลิงแฝก และโรงเรียนเลิงแฝกประชาบำรุง ได้เห็นตรงกันว่า การสร้างทายาทหม่อนไหมในส่วนที่เป็นเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญ จึงได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมระยะสั้น เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ตั้งแต่การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การสาวไหม การทอผ้า การมัดหมี่ การย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาขยายแปลงปลูกหม่อน ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงไหมตลอดทั้งปี และส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนที่เป็นทายาทหม่อนไหม จำนวน 20 คน ได้เรียนรู้การเลี้ยงไหม การสาวไหม การทอผ้า และการย้อมสีธรรมชาติ รวมถึงการออกแบบลวดลายและแปรรูปผลิตภัณฑ์ ให้มีความสวยงาม โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถสร้างงานสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับสมาชิก หวังสร้างให้เป็นต้นแบบของการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นส่งต่อให้กับลูกหลานในอนาคตต่อไป

และในวันนี้ ได้เริ่มสร้างทายาทหม่อนไหมแล้ว โดยคณาจารย์ นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมปลูกหม่อนพันธุ์ดี ร่วมกับศูนย์หม่อมไหม พร้อมด้วยคณะครู นักเรียนโรงเรียนเลิงแฝกประชาบำรุง ตำบลเลิงแฝก อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม และสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านบัวแก้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมโครงการบริการวิชาการ “การพัฒนาศูนย์เรียนรู้และพัฒนาอาชีพการผลิตเส้นไหมคุณภาพ จังหวัดมหาสารคาม” เพื่อร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นส่งต่อให้กับลูกหลานต่อไป

ภาพ : บุณฑริกา ภูผาหลวง /รองศาสตราจารย์ ดร.ฉลอง พันธ์จันทร์
ข่าว : บุณฑริกา  ภูผาหลวง
ที่มา : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

# ด้านการผลิตบัณฑิต (Production of Undergraduate and Graduate Student) # ด้านการวิจัย (Research) # ด้านบริการวิชาการ (Academic Service)

SDGs: 1 GOAL1-ขจัดความยากจน (No Poverty) 4 GOAL4-การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality education) 17 GOAL17-หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Partnership for the Goals)