MSU Sustainability Development Goals (SDGs)

นักวิจัย มมส ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร สอนสูตรอาหารโปรตีนเข้มข้น ต้นทุนต่ำ ได้ไก่ไข่คุณภาพ

อาจารย์นักวิจัยจากคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงพื้นที่บริการวิชาการ เพื่อสร้างนวัตกรรมและชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีอาหารต้นทุนต่ำในการผลิตไก่ของชุมชน มอบสูตรทำอาหารโปรตีนเข้มข้นแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ เพื่อลดต้นทุน ได้ไข่ไก่อารมณ์ดี อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขนิษฐา เพ็งมีศรี หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาหารต้นทุนต่ำในการผลิตไก่ของชุมชน เป็นโครงการย่อยในชุดโครงการผลิตอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ เป็นปีที่ 2 ถ่ายทอดความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ พร้อมนำนิสิตชั้นปีที่ 4 หลักสูตรสัตวศาสตร์เข้าร่วมเรียนรู้ ณ บ้านโนนถาวร ตำบลนาโพธิ์ อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม หลังจากเกษรตกรได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไก่จากหน่วยงานของรัฐ และถึงช่วงที่ต้องจัดหาอาหารมาให้ไก่ไข่เอง เกษตรกรที่มีกำลังทรัพย์ก็จะซื้ออาหารสำเร็จรูปทางการค้ามาเลี้ยง ซึ่งโภชนะเพียงพอต่อความต้องการในการให้ไข่ของแม่ไก่

สำหรับเกษตรกรรายที่ต้องการประหยัด หรือมีทุนไม่มาก ก็จะนำมาอาหารสำเร็จรูปเหล่านั้นมาผสมกับวัตถุดิบธรรมชาติอย่างอื่นเสริม เช่น ต้นกล้วยสด รำข้าว ใบกระถิน แต่ผลที่ได้จะทำให้ไก่ผลิตไข่ลดลง เพราะคุณค่าทางโภชนาการไม่เพียงพอต่อการให้ไข่

สิ่งที่เราอยากช่วยเกษตรกรในกลุ่มนี้คือ การผลิตอาหารสำหรับไก่ไข่ที่ลดต้นทุน แต่ยังคงให้มีโภชนะครบถ้วนตามความต้องการของแม่ไก่ โดยในปีที่ 1 ได้ผลิตอาหารไก่ ทั้งไก่พื้นเมืองและ ไข่ จากเศษเหลือทางการเกษตร เช่น ใบกระถินแห้ง ซึ่งมีโปรตีนสูง มันเส้น หรือมันสำปะหลังฝาน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงาน นำมาผสมกับการถั่วเหลือง เมล็ดข้าวโพดบด แร่ธาตุและวิตามินตามความต้องการของไก่ ในครั้งนั้นอาจารย์ ดร.ฤทธิไกร  ไชยงาม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ข้อสังเกตว่า “ถ้าผลิตอาหารส่วนที่เกษตรกรหาซื้อเองได้ยากมาผสมเอาไว้ พอเกษตรกรจะใช้จึงนำไปผสมกับวัตถุดิบที่ตนเองมีอยู่ น่าจะเป็นการสะดวกต่อเกษตรกร”

ทำให้ในปีที่ 2 นี้ได้พัฒนาสูตรอาหารโปรตีนเข้มข้นไปถ่ายทอดแก่เกษตรกร โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ทรงศักดิ์ จำปาวะดี  คณะเทคโนโลยี ผู้คิดสูตรให้ และมาเป็นวิทยากร พร้อมสาธิตการผสมอาหาร ที่ประกอบด้วย อาหารโปรตีนเข้มข้นมีโปรตีน 34% บรรจุ 8 กิโลกรัม วิธีใช้คือผสมกับข้าวเปลือกบด หรือมันเส้นบด ในอัตราส่วน อาหารโปรตีนเข้มข้น 8 กิโลกรัม ต่อข้าวเปลือกบด 24 กิโลกรัม จะได้อาหารไก่ไข่ที่มีแร่ธาตุ วิตามิน และโภชนะครบตามความต้องการของไก่ไข่

ซึ่งเมื่อคำนวณต้นทุนค่าอาหารต้นทุนต่ำที่ผสมออกมาได้ 32 กิโลกรัม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 12.5 บาท เทียบกับอาหารสำเร็จรูปทางการค้ากิโลกรัมละ 18.3 บาท อาหารโปรตีนเข้มข้นนี้มีต้นทุนต่ำกว่า 30% นั่นหมายถึงช่วยเกษตรกรในการลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ได้มาก และสำคัญกว่านั้นคือ ไก่ได้กินอาหารที่ดี มีประโยชน์เพียงพอต่อการเจริญเติบโต ส่งผลให้ออกไข่ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพที่เพิ่มขึ้นด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขนิษฐา กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายต่อไปคือ การทำให้อาหารนี้กินง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันอาหารที่ผสมได้จะเป็นอาหารผง ตามธรรมชาติแล้วไก่ชอบจิกกินอาหารที่เป็นเม็ด มากกว่า ซึ่งจะได้ต่อยอดพัฒนารูปแบบการผลิตเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อย่างยั่งยืนต่อไป

ภาพ/ข่าว : บุณฑริกา  ภูผาหลวง
ที่มา : คณะเทคโนโลยี

# ด้านการวิจัย (Research) # ด้านบริการวิชาการ (Academic Service)

SDGs: 1 GOAL1-ขจัดความยากจน (No Poverty)