MSU Sustainability Development Goals (SDGs)

มมส จัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่ (รุกขกรรมขั้นต้น) รุ่นที่ 2

วันนี้ (29 พฤษภาคม 2567) กองอาคารสถานที่ ร่วมกับสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาคมรุกขกรรมไทย มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ (Big Trees) และบริษัทโปรเกรสชั่นทรีส์ จำกัด  จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่ (รุกขกรรมขั้นต้น) รุ่นที่ 2  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 พฤษภาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัย และนวัตกรรม   เป็นประธานกล่าวเปิดงาน มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ศตวรรษ ทวงชน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภค  กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดโครงการฯ  ซึ่งได้รับเกียรติจาก อาจารย์นพพร นนทภา ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาและการฟื้นฟูป่าด้วยพรรณไม้พื้นถิ่นของไทย และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนปลูกป่า ณ ตำบลแดงใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น รองศาสตราจารย์ ดร. พรเทพ เหมือนพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และอาจารย์ ดร.วรงค์ วงศ์ลังกา อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ร่วมบรรยายและสาธิตวิธีการดูแลต้นไม้ขั้นพื้นฐาน เช่น การตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย และการตรวจสอบโรคและแมลงส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มหาวิทยาลัย รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของต้นไม้ในระบบนิเวศ

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติงานในการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี พร้อมทั้งพัฒนาและเพิ่มศักยภาพบุคลากรให้ได้มีความรู้และทักษะด้านการทำงานฟื้นฟูและประเมินความเสี่ยงสุขภาพต้นไม้ใหญ่แบบองค์รวม ตลอดจนเป็นการยกระดับฝีมือผู้ปฏิบัติงานให้สามารถปฏิบัติงานด้านการตัดแต่งกิ่งต้นไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งผู้เข้าร่วมอบรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดประสบการณ์การตัดแต่งกิ่งไม้ร่วมกัน สามารถนำความรู้ ประสบการณ์ มาพัฒนาการทำงาน และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเพื่อนร่วมงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิพลอันจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

กิจกรรมภายในการฝึกอบรมฯได้รับฟังการบรรยายความรู้พื้นฐานด้านงานรุกขกรรม  นิเวศต้นไม้และการจัดเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การประเมินสุขภาพและความเสี่ยงอันตรายของต้นไม้ใหญ่ในเขตเมือง หลักการขั้นตอนพื้นฐานในการฟื้นฟูสุขภาพต้นไม้ใหญ่และวิเคราะห์โรคแมลง พร้อมทั้งได้รับชมการสาธิตและแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ ประเมินความเสี่ยงต้นไม้ใหญ่ด้วยแบบประเมิน กระบวนการฟื้นฟูระบบรากต้นไม้ใหญ่ด้วยเสียมลม พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติการตัดต้นไม้ขนาดกลางและการใช้อุปกรณ์ตัดแต่ง Hand Tools อย่างปลอดภัย อีกทั้งมีการฝึกปฏิบัติการทำงานร่วมกันระหว่างรุกขกรและผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ อย่างปลอดภัย และประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯประกอบด้วย บุคลากรมหาวิทยาลัยมหาสารคามจำนวน 40 คน และบุคลากรจากหน่วยงานภายนอก จำนวน 20 คน

ภาพ/ข่าว : อภิราม ทามแก้ว
ที่มา : กองอาคารสถานที่

SDGs: 15 GOAL15-ระบบนิเวศบนบก (Life on land)