มมส เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทยสู่สายตาโลก ในงาน “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติศักดิ์ ศรีประทีป ผู้จัดการศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำคณะนักวิจัยเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมไทยสู่สายตาโลก ในงาน “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 21 เมษายน 2567 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงการนำเสนอผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้น และนวัตกรรมไทย ณ Thailand Pavilion ในงาน “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” ในปีนี้ มุ่งหมายให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานอันทรงคุณค่า พร้อมทั้งแสดงศักยภาพในการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยในเวทีระดับนานาชาติ และเป็นการเปิดประตูสู่ความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมระหว่างประเทศ ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่บทบาทผู้นำด้านการวิจัยและนวัตกรรมบนเวทีระดับโลก โดยมีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงานจากนานาประเทศทั้งจากทวีปยุโรป เอเชียและอเมริกา เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการมากกว่า 1,000 ผลงาน จากกว่า 40 ประเทศ นับเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยในการได้แลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีและประสบการณ์กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาประเทศและได้เผยแพร่ผลงาน รวมถึงได้แสดงความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสายตาชาวโลกในปีนี้ และในงานครั้งนี้มีเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตรของ วช. ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน จาก 37 หน่วยงาน มาร่วมนำเสนอ จำนวน 94 ผลงาน
ในวันที่ 18 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการเปิดนิทรรศการ “Thailand Pavilion” ในงาน “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” และได้เยี่ยมชมบูทของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยงานครั้งนี้มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงผลงานในครั้งนี้ จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่
1. Imitated rice forming machine from various flours
2. A Finger Strength Training Kit for Physical Therapists and Practitioners of Applied Thai Traditional Medicine
3. Phytomelatonin production through seed germination under salinity stress with exogenous melatonin addition: Novel food material for producing novel dietary supplements, functional food ingredients, and functional foods
ในโอกาสนี้ หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (UIC) พร้อมให้การสนับสนุนการวิจัย สนับสนุนนักวิจัยและเตรียมความพร้อมนักวิจัย มมส สู่มาตรฐานสากล นักวิจัยสามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนในแผนงานต่าง ๆ ได้ที่ ศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาคารกลุ่มงานวิจัยและปฏิบัติการชั้น 1 ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
ที่มา : ศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม
SDGs: 4 GOAL4-การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality education)