นิสิต บุคลากร มมส ประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกทางวัฒนธรรม "โชคลาภนิรันดร์" ในงานฮีตเดือน 4 ประเพณีบุญผะเหวด
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) จัดโครงการอบรมและฝึกปฏิบัติการจัดทำผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกทางวัฒนธรรม "โชคลาภนิรันดร์" ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกที่ผสมผสานศิลปะจีนกับศิลปะไทยอีสานเข้าไว้ด้วยกัน ในโครงการมรดกทางวัฒนธรรม : ฮีตเดือน 4 ประเพณีบุญผะเหวด เทศน์มหาชาติ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี 2567 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 -27 มีนาคม 2567 โดยมี คณาจารย์ บุคลากร นิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าร่วมฝึกอบรม ณ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (บ้านอีสาน)
อาจารย์สถิตย์ เจ็กมา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน กล่าวว่า การอบรมจัดทำผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก "โชคลาภนิรันดร์" มีที่มาจากการผสมผสานศิลปะจีนกับศิลปะไทยอีสานเข้าไว้ด้วยกัน โดยได้แนวคิดจากงานศิลปหัตถกรรมที่ปรากฎในงานประเพณีต่าง ๆ ของชาวอีสาน โดยใช้อุปกรณ์ประกอบด้วย ด้ายสีต่าง ๆ , ไม้ไผ่หรือไม้จิ้มฟัน ,เชือก ,ลูกแก้ว(พลาสติก) ,พู่จีน ,ลูกปัด ,ห่วง ,กาวร้อน และกรรไกร มีวิทยากรสอนขั้นตอนการทำที่ค่อนข้างละเอียดประณีต คล้ายกับการทำธุงใยแมงมุม เป็นธุงที่ทำจากเส้นด้าย ผูกโยงกันคล้ายใยแมงมุมใช้แขวนโดยรอบในงานพิธีกรรม เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อเกี่ยวกับโชคลางของชาวบ้าน เชื่อกันว่าเส้นไหมหรือเส้นด้ายที่นำมาทำธุงใยแมงมุม จะชักจูงนำพาขึ้นสวรรค์
เชือก เป็นอุปกรณ์หลักที่สำคัญอีกหนึ่งอย่าง ซึ่งคำว่า “เชือก” ในภาษาจีนออกเสียงว่า "เซิง" ซึ่งคล้ายคลึงกับคำว่า "เซิน" ซึ่งแปลว่า พระเจ้า อีกทั้งคนจีนยังมีความเชื่อที่ว่าตนเองเป็นลูกหลานมังกร ดังนั้น การก่อเกิดของวัฒนธรรมจีนโบราณ ความสัมพันธ์ของคนจีนจึงเปรียบเสมือนการถักทอของเชือกที่แน่นแฟ้นดั่งมังกร ที่มีลักษณะคดเคี้ยว
การถักปมแบบจีนกลายเป็นศิลปะหนึ่งที่ถูกรังสรรค์ขึ้น ในรูปแบบต่างกันออกไป มักถูกนำไปใช้ในการประดับตกแต่งสถานที่ต่าง ๆ หรือแม้แต่เครื่องประดับติดตัว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่ที่จะเป็นวันเริ่มปีด้วยสิ่งดี ๆ
ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกทางวัฒนธรรม "โชคลาภนิรันดร์" เป็นการต่อยอดเป็นของที่ระลึกบนฐานวัฒนธรรมเดิม ไทย - จีน สำหรับแขวนไว้หน้ารถ และแขวนไว้ตามบ้านเรือน เพื่อให้เราแคล้วคลาดปลอดภัยจากสิ่งไม่ดีทั้งปวง และมี"โชคลาภนิรันดร์"
ภาพ : บุณฑริกา ภูผาหลวง และ อภิราม ทามแก้ว
ข่าว : บุณฑริกา ภูผาหลวง
ที่มา : สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
# ด้านศิลปวัฒนธรรม (Art and Culture)
SDGs: