เปิดเส้นทางท่องเที่ยว “Happy Maha Sarakham” อ.เมือง - กันทรวิชัย Maha Sarakham BCG Happy Model Tourism
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ YEC หอการค้าจังหวัดมหาสารคาม และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดมหาสารคาม จัดทดลองท่องเที่ยวตามเส้นทาง “Happy Maha Sarakham” Maha Sarakham BCG Happy Model Tourism อำเภอเมือง และอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมี นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานสำนักประสานงานการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดมหาสารคาม ผู้แทนบริษัทนำเที่ยว และสื่อมวลชน ร่วมขบวนในเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดมหาสารคาม และได้รับความร่วมมือจากสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการคัดสรรนิสิตและคณาจารย์ชาวจีน มาเป็นนักท่องเที่ยวทดลองเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวจีนอันเป็นกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวสำคัญในอนาคต
การทดลองเส้นทางท่องเที่ยว “Happy Maha Sarakham” อำเภอเมืองฯ-กันทรวิชัย ในวันนี้ เริ่มต้นที่ กราบสักการะ “พระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก” ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองมหาสารคาม เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้น เดินทางเข้าพื้นที่อำเภอกันทรวิชัย สักการะ “พระพุทธมงคล” หลวงพ่อพระยืนองค์พ่อในตำนานท้าวลินจง-ลินทอง แห่งเมืองคันธารวิสัย เมืองโบราณสมัยทวารวดี พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา อายุราว 1,200 ปี มีกิจกรรมทำ “เครื่องรางสมุนไพร” จากผ้าไหม สมุนไพร และมนตราอีสาน เป็นเครื่องรางแห่งความรัก เจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดปลอดภัย เช่า บูชา “เหรียญพระพุทธกันทรวิชัย”ไปปกปักรักษา บันดาลโชคลาภ
เดินทางต่อไปถึง “บ้านสวนซุมแซง” บ้านสวนเกษตรกรรมยั่งยืน ดื่มน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ห่อข้าวต้ม “ข้าวอินทรีย์ 3 สี 3 รส” ย่างและชิม “ปลาส้มไร้ก้าง” ทำลูกประคบสมุนไพร คลายปวดเมื่อยและล้างพิษด้วยการ “แช่เท้า” ในน้ำสมุนไพรหรือสมุนเม็ดฟู่ พร้อมรับประทานอาหารมื้อเที่ยงด้วยเมนู “อาหารเป็นยา”
ในช่วงบ่าย เดินทางไปวัดพุทธวนาราม (วัดป่าวังน้ำเย็น) ชมอุโบสถไม้ตะเคียนใหญ่ที่สุดในโลก ปราสาท 3 ฤดู สักการะเจดีย์ศรีมหาสารคาม และเดินทางต่อไปยัง สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช สถานีปฏิบัติการบ้านเกิ้ง อำเภอเมือง แหล่งเรียนรู้ธรรมชาติริมแม่น้ำชี ล่องเรือคายัค ชมธรรมชาติ “ชีหลง” เดินป่าศึกษาธรรมชาติ “ป่าบุ่งป่าทาม”
อาจารย์ทม เกตุวงศา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า เส้นทางท่องเที่ยว “Happy Maha Sarakham” ดำเนินการภายใต้โครงการการยกระดับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยชุมชนด้วยแนวคิด BCG และโมเดลอารมณ์ดีของจังหวัดมหาสารคามและพื้นที่เชื่อมโยงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูพักตร์ สุทธิสา เป็นหัวหน้าโครงการ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเมืองรองจังหวัดมหาสารคามให้เป็นหมุดหมายด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวคุณภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
เส้นทางดังกล่าวถูกออกแบบให้สอดคล้องกับแนวคิดที่สำคัญ 5 ส่วน ได้แก่
1) โมเดลเศรษฐกิจ BCG
2) โมเดล อารมณ์ดี มีความสุข (Happy Model: กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และแบ่งปันดี)
3) การท่องเที่ยวโดยชุมชนตามมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประเทศไทย (CBT Thailand Standard)
4) การท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism)
และ 5) การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ เช่น สินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ในเส้นทางท่องเที่ยว การบริการด้านที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้า โดยมี 4 เส้นทางตามความโดดเด่นของเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของจังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ เส้นทางอำเภอเมืองฯ-กันทรวิชัย อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอแกดำ และอำเภอนาดูน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ตามความสนใจทั้งแบบทริปครึ่งวัน ทริปหนึ่งวัน และ ทริปสองวัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
https://facebook.com/MahasarakhamBCGandHappymodelTourism
https://rinac.msu.ac.th/Ebook/Happy-Model-Kantharawichai.pdf
ภาพ/ข่าว : บุณฑริกา ภูผาหลวง
ที่มา : สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
SDGs: 1 GOAL1-ขจัดความยากจน (No Poverty) 12 GOAL12-การผลิตและบริโภคที่รับผิดชอบ (Responsible consumption and production) 13 GOAL13-การรับมือกับ Climate Change (Climate action) 14 GOAL14-นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร (Life below water) 15 GOAL15-ระบบนิเวศบนบก (Life on land) 17 GOAL17-หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Partnership for the Goals)