มมส จัดโครงการพัฒนาวิชาการ ประจำปี 2567
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 กองทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการพัฒนาวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระหว่างวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2567 ณ เชียงคาน ริเวอร์ เมาท์เทน รีสอร์ท อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการและบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนาหลักสูตรกับการพัฒนามหาวิทยาลัย และจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์ให้กับนิสิต” ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ คือ ศาสตราจารย์ประดิษฐ์ เทอดทูล ศาสตราจารย์อัจฉริยา ไศละสูต และศาสตราจารย์บุษบา กนกศิลปธรรม เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จันทร์ทิพย์ กาญจนศิลป์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและนวัตกรรมการเรียนรู้ กล่าวว่า ฝ่ายวิชาการ โดยกองทะเบียนและประมวลผล ได้จัดโครงการพัฒนาวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการวิชาการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เสวนาแลกเปลี่ยนความรู้หรือประสบการณ์ในการทำงาน กำหนดแนวทาง และสะท้อนข้อมูลที่สำคัญสำหรับการพัฒนาวิชาการ / หลักสูตรและนวัตกรรมการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้แนวทางการจัดการศึกษาเพิ่มทักษะและประสบการณ์ให้กับนิสิต ทบทวนแผนการรับนิสิตไทยและนิสิตต่างประเทศของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 5 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2568-2572) และเพื่อสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์อันดีในการทำงานด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยระหว่างคณะกรรมการวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารระดับมหาวิทยาลัย ผู้บริหารระดับคณะ และประธานหลักสูตร โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ คือ กรรมการวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารระดับมหาวิทยาลัย ผู้บริหารระดับคณะ ประธานหลักสูตร และบุคลากร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน 50 คน
ภายในโครงการฯรับฟังการบรรยายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์ให้กับนิสิต / ข้อมูลในการทบทวนแผนการรับนิสิตไทยและนิสิตต่างชาติ ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 5 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2568-2572)”โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จันทร์ทิพย์ กาญจนศิลป์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและนวัตกรรมการเรียนรู้ จากนั้นร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ “การกำหนดแนวทางและการสะท้อนข้อมูลที่สำคัญสำหรับการพัฒนาวิชาการ / หลักสูตรและนวัตกรรมการเรียนรู้ และการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์ให้กับนิสิต” โดยมีคือ ศาสตราจารย์ประดิษฐ์ เทอดทูล ศาสตราจารย์อัจฉริยา ไศละสูต และศาสตราจารย์บุษบา กนกศิลปธรรม เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เข้าร่วมจากคณะ/หน่วยงาน/สถาบัน ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงาน สะท้อนข้อมูลที่สำคัญสำหรับการพัฒนาวิชาการ / หลักสูตรและนวัตกรรมการเรียนรู้ และจัดทำแผนการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์ให้กับนิสิต
ภาพ : อมต ชุมพล/อภิราม ทามแก้ว
ข่าว : อภิราม ทามแก้ว
ที่มา : กองทะเบียนและประมวลผล
SDGs: 4 GOAL4-การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality education)