MSU Sustainability Development Goals (SDGs)

นิสิตสาขาวิชาทัศนศิลป์ มมส โชว์ไฮไลท์ 3 ผลงาน นำขยะไร้ค่า สร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ

หลังจากที่นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำผลงานส่งอาจารย์ในรายวิชาจิตรกรรม และรายวิชาวัสดุและกลวิธี เป็นศิลปะสื่อประสม สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย โดยการประกอบสร้างรูปทรง ด้วยการใช้วัสดุเหลือใช้ ผ่านการจัดแสงและเงา ที่พาดผ่านลงบนพื้นผนังปรากฏเป็นภาพเงา “เด็กเร่รอน” ซึ่งได้เผยแพร่ไปในสื่อสังคมออนไลน์ มีผู้คนสนใจแชร์และชื่นชมกับผลงานสร้างสรรค์เป็นจำนวนมาก  ล่าสุดวันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2567) นายธานินท์ ใจบุญ เจ้าของผลงาน พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.ปรีชา นวลนิ่ม อาจารย์ผู้สอนในรายวิชาวัสดุและกลวิธี สาขาวิชาทัศนศิลป์ ได้นำชมงานศิลปะที่เป็นไฮไลท์น่าสนใจไม่แพ้กัน รวม 3 ผลงาน พร้อมให้แนวคิดที่มาของการมีไอเดียสร้างสรรค์งานดังกล่าว  

เริ่มจากผลงานชิ้นแรก “เงาภาพนายก” งานชิ้นนี้มีเเรงบันดาลใจมาจาก สังคมบริโภค ความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจ โดยที่ตนมีความคิดนำเอาขยะ หรือสิ่งของที่ผู้คนได้บริโภคหมด และได้นำไปทิ้ง จึงมีเเนวคิดที่อยากจะนำขยะเหล่านี้ วัสดุ สิ่งของที่ผู้คนมองว่ามันเป็นขยะ เห็นขยะเหล่านี้ทิ้งเกลื่อนอยู่ตามข้างทาง ตามถนน สถานที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่ที่ที่มันควรจะอยู่ เพราะว่าผู้คนมองว่ามันไม่มีคุณค่า มันไม่มีประโยชน์เเก่พวกเขา จะทิ้งตรงไหนก็ได้ การกระทำเหล่านี้ทำให้สภาพเเวดล้อมไม่น่าอยู่ ตนจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าขยะเหล่านี้มันมีคุณค่าขึ้นมาล่ะ ผู้คนจะนำมันไปทิ้งตามข้างทาง หรือสถานที่ ที่ทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมหรือไม่ จึงเกิดเเนวคิด สร้างคุณค่าให้แก่ขยะเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ (ขยะเหล่านี้ไม่ใช่ขยะที่เน่าเหม็น วัสดุทุกชิ้นได้ผ่านการเช็ดล้างเป็นที่เรียบร้อย) จึงทำให้เกิดงานชิ้นนี้ขึ้นมา

สำหรับเทคนิคกลวิธี เริ่มจากการใช้วัสดุที่เกี่ยวข้องกับสังคมบริโภค ความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจ นำมาสร้างคุณค่าของวัสดุเพื่อที่จะสะท้อนกับสังคม วัสดุที่เลือกใช้ มีกระป๋องน้ำอัดลม ขวดน้ำพลาสติก ไม้ไอศกรีม เพื่อที่จะสื่อถึงสังคมบริโภคในยุคปัจจุบัน  และ ซอง และ กล่องลังบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพื่อที่จะสื่อถึงความเป็นอยู่และเศรษฐกิจ หรือกลุ่มคนที่มีฐานะทางการเงินระดับกลางลงมาถึงกลุ่มคนที่ฐานะทางการเงินระดับล่าง เศรษฐกิจไม่ดี จึงทำให้ไม่มีเงิน และกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อที่จะประทังชีพ

ในตัวงาน ตนใช้เเสงไฟส่องผ่านวัสดุ เพื่อที่จะให้เกิดเเสงเงาของวัสดุบนผนัง เริ่มจากจากขึ้นโครงสร้างจากเศษกระดาษลัง และไม้ไอศกรีม เพื่อที่จะทำโครงสร้างของรูปพอตเทรต และรูปพอตเทรตที่ตนสร้างขึ้นคือรูปของนายก ซึ่งเป็นผู้นำ เพื่อที่จะให้คนดูเห็นถึงความหวังจากประชาชน หวังกับนายก มีความหวังว่าเศรษฐกิจบ้านเมืองจะดีขึ้น

ที่มาของงานชิ้นนี้  ตนได้แรงบันดาลใจศิลปินต่างประเทศเห็นเเล้วมันท้ายทายดี ผมจึงได้ศึกษาเเละทดลองหาความรู้ใหม่ให้เเก่ตัวเอง เเละต้องการให้สังคมไทยได้ชมงานเทคนิคใหม่ๆ ผลงานชิ้นนี้มีขนาด : 160X190cm.

ต่อด้วยผลงานชิ้นที่ 2 ชื่อผลงาน “คึดฮอด” มีเเนวคิดทำเกี่ยวกับสังคมชนบท(ชนบทในภาคอีสาน) เมื่อพูดชนบท ตนนึกถึงบ้าน ที่อยู่ในจังหวัดหนึ่งของภาคอีสาน นาน ๆ ครั้งที่ตนจะได้กลับบ้าน กลับไปหาครอบครัว กลับไปหาพ่อแม่ และทุกๆครั้งที่กลับบ้านจะมีความสุขมาก ๆ เจอสังคมที่อบอุ่น เจอผู้ใหญ่ที่เอ็นดูมากมาย

เมื่อตนใช้ชีวิตอยู่บ้านมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว ก็ถึงเวลาที่จำเป็นต้องกลับมาทำหน้าที่ของตัวเองต่อ โดยการกลับมาเรียนที่มหาวิทยาลัย จึงมีแรงบันดาลใจในการทำงานชิ้นนี้มาจาก การนึกถึงบ้าน การคิดถึงคนในครอบครัว คิดถึงบรรยากาศที่คุ้นเคยในชุมชนที่ข้าพเจ้าได้เติบโตมา

สิ่งที่คุ้นเคย เคยเห็นมาตั้งเเต่เด็ก คือคนในครอบครัว หรือคนในชุมชนของข้าพเจ้าได้นำเอาภูมิปัญญาพื้นบ้านมาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เเก่ครอบครัว โดยการนำเอาไม้ไผ่มาสร้างเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักสาน สิ่งเหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าทึ่งมาก จากไม้ไผ่ธรรมดา คนในภาคอีสานสามารถนำมาสร้างประโยชน์จากไม้ไผ่ได้ตั้งมากมาย

ภูมิปัญญาพื้นบ้าน นำเอาไม้ไผ่มาสร้างประโยชน์ ทำให้เกิดเเรงบันดาลใจที่อยากจะนำเอาไม้ไผ่มาสร้างประโยชน์ สร้างคุณค่าทางด้านศิลปะ เพื่อที่จะให้สังคมได้เห็นว่า นอกจากนำไม่ไผ่มาสร้างเครื่องมือ เครื่องใช้แล้ว ยังสามารถนำไม้ไผ่มาสร้างคุณค่าทางด้านงานศิลปะได้ด้วย

สำหรับเทคนิคในการทำ เริ่มจากการสร้างฐานของงานซึ่งเป็นกระติบข้าวเหนียวขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อที่จะสื่อความหมายของการคิดถึงบ้าน คิดถึงคนในครอบครัว เพราะว่ากระติบข้าวเหนียวสามารถทำให้คนในครอบครัวของมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันได้ กินข้าวด้วยกัน พูดคุยกัน เป็นช่วงเวลาที่ดูอบอุ่นมาก

จากนั้น ใช้เเสงไฟส่องผ่านวัสดุ เพื่อที่จะให้เกิดเเสงเงาของวัสดุบนผนัง นำเอาไม้ไผ่มายึดติดกับกล่องลัง เพื่อขึ้นโครงสร้างไว้รับน้ำหนักของวัสดุที่จะนำมาสร้างเงา วัสดุที่เลือกใช้ มี ไม้ไผ่ กระดาษลัง ลวด เมื่อได้โครงสร้างรับน้ำหนักของวัสดุที่จะนำมาสร้างเงาแล้ว เริ่มนำเอาไม้ไผ่เเละกระดาษลังมาตัดเป็นชิ้นส่วนตามขนาดที่เหมาะสม เเละติดทับกันไปเรื่อยๆให้เกิดเงาบนผนังตามต้องการ และเเสงจากหลอดไฟส่องมากระทบกับวัสดุ เเละได้เกิดเงาบนผนังเป็นรูปหญิงชราที่กำลังนั่งจักสานอยู่ เพื่อที่จะสื่อความหมายว่า  ตนผู้สร้างงานชิ้นนี้กำลังคิดถึงยาย เเละยายมีความผูกพันกับงานจักสานที่ด้านหน้า ซึ่งเป็นวัสดุที่ทำให้เกิดเงานี้ขึ้นมา

และในตัวงานชิ้นนี้ ตนได้สร้างรูปทรงปลาตะเพียนจากความทรงจำที่มีเเม่กำลังสร้างปลาตะเพียนให้เล่นในวัยเด็กของข้าพเจ้าเอง  จำนวน 3 ตัว ปลาตะเพียนตัวเล็กที่สุดอยู่ทางด้านซ้ายมือของงาน ปลาตะเพียนตัวเล็กตัวนี้เเทนค่าให้เป็นตนเอง ซึ่งปลายตะเพียนตัวเล็กกำลังแหวกว่ายผ่านไม้ไผ่ที่มีรูปทรงคดเคี้ยว เเละรูปทรงที่ตรง ทิศทางที่ปลาตะเพียนตัวเล็กกำลังจะไป คือทิศทางของเเสงจากหลอดไฟ สื่อความหมายว่า ตนเป็นนิสิตวิชาศิลปะ เส้นทางที่ข้าพเจ้ากำลังเดิน มันจะเจอเส้นทางที่ดีบ้าง หรืออาจจะเจอเส้นทางที่มีเเต่อุปสรรค สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสีสันของชีวิต ไม่ว่าจะยาก จะง่าย ข้าพเจ้าต้องไปให้ถึงเป้าหมายที่ข้าพเจ้าตั้งเอาไว้ให้ได้

และปลาตะเพียนขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ตนเเทนค่าให้เป็น เเม่กับพ่อ ซึ่งปราตะเพียนขนาดกลางเเละใหญ่ ได้สร้างไว้ทางด้านขวามือของงาน ทิศทางที่ปลาตะเพียนสองตัวนี้กำลังมองไปคือ ทิศของปลาประเพียนตัวเล็กที่เเหวกว่ายอยู่ทางด้านซ้ายมือของงาน สื่อถึง เเม่กับพ่อที่กำลังจ้องมองดูลูกตัวเองด้วยความห่วงใย เเละหวังว่าสักวันหนึ่งลูกจะประสบความสำเร็จ สมหวังดั่งปรารถนา ผลงานชิ้นนี้ มีขนาด : 150X220cm.

และอีก 1 ชิ้นที่มีผู้ให้ความสนใจที่สุดคือผลงาน  “คนเร่ร่อน” มีเเนวคิดทำเกี่ยวกับสภาพเเวดล้อมของคนเร่ร่อน จากสังคมในเมือง และจากประสบการณ์ที่เคยพบเจอในชีวิตจริง เพื่อนำความบันดาลใจนั้นมาสร้างสรรค์ แสดงออกเป็นผลงานศิลปะ และด้วยตนเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่ในสังคมเมือง เพื่อทำงานหารายได้และศึกษา ทุกครั้ง เมื่อเดินทางจะมีความรู้สึก และเห็นบางอย่างในสังคมเมือง คือ ความเจริญรุ่งเรือง ความทันสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวกที่พัฒนาไปไกล ด้วยปัจจัยหลายๆด้านสังคมจึงได้พัฒนาเปลี่ยนแปลง ไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนหนาแน่นหลั่งไหลเข้ามาในเมืองด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา เพื่อพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

แต่ตรงกันข้ามทำไมกลับมีคนเร่ร่อน คนไร้บ้านอยู่จำนวนไม่น้อย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น ภาพของการใช้ชีวิตอย่างน่าสงสาร อย่างดิ้นรน เดินตามข้างถนน เก็บของเก่าขายบ้าง เพื่อจะเเลกกับอาหาร ใช้ชีวิตให้รอดในเเต่ละวัน  สภาวะเหล่านี้อาจถือเป็นประสบการณ์ ทำให้ตั้งข้อสังเกต และสงสัยว่าพวกเขาเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นจากไหน ใช้ชีวิตรอดได้อย่างไร ท่ามกลางความเจริญ

ผลงานชิ้นนี้ ต้องการจะสื่อถึงการใช้ชีวิตประจำวันในด้านต่าง ๆของคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน ทั้งด้านอาหาร ด้านอาชีพ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเดือนร้อนเเก่ผู้อื่นแต่อย่างใด มุมมองของคนไร้บ้าน คือ อยากให้ทำความเข้าใจ ยอมรับว่าจริง ๆแล้วพวกเขาไม่ได้เป็นภัยอันตรายกับสังคม อยากให้สังคมให้โอกาสพวกเขาเหล่านี้

วัสดุที่เลือกใช้ คือ วัสดุที่เหลือใช้ สิ่งของที่ผู้คนบริโภคหมดเเล้ว เเละได้นำทิ้งเกลื่อนกลาด ตามข้างทาง หรือทิ้งไม่เป็นที่เป็นทาง ทำให้สภาพเเวดล้อมเสื่อมโทรม จึงทำให้เกิดเเนวคิดที่อยากจะสร้างสรรค์คุณค่าให้เเก่วัสดุขึ้นมาใหม่ เเละที่สำคัญ สิ่งของเหล่าที่ข้าพเจ้านำมาสร้างสรรค์งานชินนี้ล้วนมีความเชื่อมโยงกับคนเร่ร่อน เช่น 1)กระดาษลัง มักจะเห็นพวกเขาเหล่านี้ นำมันมาไว้เป็นที่รองนั่ง รองนอน 2)ขวดน้ำ มักจะเห็นพวกเขาเดินเก็บขวด นำไปขายหรือไปเเลกอาหาร เพื่อประทังชีพในแต่ละวัน

โดยใช้เทคนิคการจัดมุม และองศาของหลอดไฟไว้บริเวณพื้นหันหน้าของหลอดไฟขึ้นตามความเหมาะสม ได้สร้างโครงสร้างไว้รับน้ำหนักของวัสดุที่จะมาสร้างเงาบนผนัง โดยการนำเอาเศษไม้เเละกระดาษลังมายึดติดกันเพื่อให้เกิดความมั่นคงของตัวฐาน ตัดวัสดุที่นำมาสร้างเงาเป็นชิ้นส่วนตามที่ข้าพเจ้าต้องการ เเละติดทับกันไปเรื่อยๆจนเกิดภาพเงาบนผนัง ซึ่งภาพเงาที่ปรากฏอยู่บนผนัง คือภาพของเด็กชายที่กำลังนอนอยู่บนกระดาษลัง มีลักษณะท่าทางการนอนที่ดูเเล้ว เกิดความรู้สึกเอ็นดู เกิดความรู้สึกน่าสงสาร  

ถามว่าทำไมเลือกรูปเด็ก? เพราะว่าเด็กสามารถสื่ออารมณ์ของความน่าเอ็นดู เเละความน่าสงสารได้ดี เเละตนต้องการจะสื่อความหมายว่า เด็กคืออนาคตของชาติ เด็กคือความสดใส เเต่เด็กเหล่านี้ ยังขาดโอกาสจากสังคม นอกจากนี้ ยังได้นำวัสดุมาทำการจัดการหลอดไฟให้เป็นส่วนหนึ่งของงานชิ้นนี้ด้วย  โดยผลงานมีขนาด : กว้าง120cm. ยาว170cm. สูง60cm.

นายธานินท์ ใจบุญ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผลงานแต่ละชิ้นใช้เวลาคิด ออกแบบ และลงมือทำประมาณ 1 เดือน รู้สึกดีใจและขอบคุณทุกเสียงตอบรับจากผู้คน ที่ความสนใจและชื่นชอบในผลงานศิลปะ และตนก็จะคิดสร้างสรรค์ผลงานเทคนิคใหม่ ๆ นำเสนอในมุมที่สังคมไม่ค่อยได้เห็น โดยการนำเอาหลักการจากการเรียนในวิชาเอกจิตรกรรม ภาควิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่อาจารย์ได้สอนไว้ มาพัฒนาต่อยอด....โปรดรอติดตามผลงานครับ” นายธานินท์ กล่าว

ด้าน อาจารย์ ดร.ปรีชา นวลนิ่ม เผยถึงช่วงเวลาจัดแสดงผลงานของนิสิตทุกคน ที่เรียนในรายวิชาวัสดุและกลวิธี  สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งจะได้ชมความหลากหลายของชิ้นงาน ที่นิสิตจะได้คิดสร้างสรรค์และออกแบบออกมาโชว์ ในช่วงเดือน มิถุนายน 2567 นี้ ฝากให้ผู้สนใจติดตามได้ทาง เพจ Facebook : ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ภาพ/ข่าว : บุณฑริกา ภูผาหลวง
ที่มา : คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์

SDGs: 4 GOAL4-การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality education)