MSU Sustainability Development Goals (SDGs)

มมส จัดงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก “พื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ (Wetlands and Human Wellbeing)”

วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2567) สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ประจำปี 2567 และ โครงการค่ายจิตอาสาพัฒนาชุมชน แหล่งท่องเที่ยว โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมมอบเกียรติบัตรให้แก่โรงเรียนและชุม เครือข่ายผู้เข้าร่วมโครงการ ชมการแสดงจากโรงเรียนเครือข่ายพื้นที่ชุ่มน้ำ ณ สถานีปฏิบัติการบ้านเกิ้ง สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดารัตน์ ถนนแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า “วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 นานาชาติได้ร่วมยกร่างและลงนามในการรับรอง “อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มี ความสำคัญระหว่างประเทศ” ขึ้น ณ เมือง Ramser ประเทศอิหร่าน เพื่อเป็นการร่วมรำลึกถึงวันดังกล่าว และร่วมตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำชี อันเปรียบเสมือนสายน้ำแห่งชีวิตที่หล่อเลี้ยงชุมชนที่อาศัยในเขตในลุ่มน้ำชี จึงได้จัดงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก โดยคำขวัญในวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกปี 2567 คือ “พื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ (Wetlands and Human Wellbeing)” และได้ร่วมกับคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม จัดโครงการค่ายจิตอาสาพัฒนาชุมชน แหล่งท่องเที่ยว ปีที่ 2 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และส่งเสริมให้นิสิตได้เข้าใจในการมีจิตสาธารณะเสียสละและการบริการ

ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2567 มีกิจกรรมฐานเรียนรู้ ได้แก่ สอนพายเรือคายักในพื้นที่ชุ่มน้ำกุดแดง  ,ปุ๋ยมูลไส้เดือนและการคัดแยกและจัดการขยะ โดยกองอาคารสถานที่ , ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำ ,โคกหนองนาและบั้งกระโบก ,การผลิตปุ๋ยอินทรีย์และการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำ ,การจัดทำพื้นที่อนุรักษ์สัตว์น้ำและการประมงพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์รอบกุดแดง และการจัดการท่องเที่ยวทางน้ำ ,การพัฒนาค่ายจิตอาสาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ปีที่ 2 และกิจกรรมการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนิสิตและแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำของชุมชน

ทั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะมีความร่วมมือกันในการวางแผนและพัฒนาพื้นที่กุดแดงเพื่อการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์และพื้นที่ท่องเที่ยวทางน้ำของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป”

ภาพ/ข่าว : บุณฑริกา ภูผาหลวง
ที่มา : สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช

SDGs: 6 GOAL6-น้ำสะอาดและสุขาภิบาล (Clean water and sanitation) 11 GOAL11-เมืองและชุมชนยั่งยืน (Sustainable cities and communities) 14 GOAL14-นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร (Life below water) 15 GOAL15-ระบบนิเวศบนบก (Life on land)